top of page

Child Development

       พัฒนาการทางสมองของเด็กวัย 1-3 ปี

 

สมองเด็กแรกเกิดจะมีน้ำหนักประมาณ 30-40% ของผู้ใหญ่ และเพิ่มเป็น 60% เมื่ออายุ 4 ขวบ จึงถือว่าช่วง 6 ปีแรกของชีวิตเป็นช่วงที่สมองมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วที่สุด

 

วัย 1-3 ปี เป็นวัยทองแห่งการเรียนรู้ ความเฉลียวฉลาด และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากพ่อแม่ เพื่อให้สมองเติบโตมีพัฒนาการเต็มศักยภาพ ซึ่งสมองแต่ละส่วนจะมีหน้าที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดทำงานประสานกัน

 

- ซีรีเบลลัม ทำหน้าที่ในการประมวลการรับรู้ และควบคุมการสั่งการ เพื่อส่งข้อมูลไปยังกล้ามเนื้อเพื่อเคลื่อนไหว ควบคุมและรักษาสมดุลการทรงตัว

- พาไรทัลโลบ ดูแลประสาทสัมผัสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้รสชาติ การสัมผัส การทำงานประสานกันของมือและตา การใช้มือกำหรือจับสิ่งของ การจดจำสิ่งต่างๆ

- ออกซิพิทัลโลบ ดูแลพัฒนาการด้านความสามารถในการเข้าใจความหมายของคำ ความเข้าใจในสิ่งที่มองเห็น แนวคิดและการปฏิบัติ เทมพอรัลโลบ ดูแลพัฒนาการด้านความรู้สึกเป็นอิสระ เป็นของตัวเอง และดูแลพัฒนาการด้านการพูด การได้ยิน การดมกลิ่น ความจำ อารมณ์โดยเฉพาะความกลัว

- ฟรอนทัลโลบ ดูแลพัฒนาการด้านสังคม โดยทำหน้าที่ควบคุมดูแลระบบการคิด และบางพฤติกรรม เช่น การแก้ปัญหา การวางแผน การรับรู้และการตอบสนอง

     พัฒนาการทางร่างกายของเด็กวัย 1-3 ปี

   

เด็กวัย 1-1 ½ ขวบ

 

- เด็กจะพยายามหัดยืนและเดิน และทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

- ปีนขึ้นบันไดได้แต่ต้องมีคนช่วย ลงบันไดโดยการคลานถอยหลัง ถ้าเดินลงต้องช่วยจับแขน

- กระโดดสองขาได้

- ชอบลาก ผลัก ดันสิ่งต่างๆ ลากเก้าอี้ไปยังชั้นวางของและพยายามปีนป่ายหรือเอื้อมหยิบของ

- ต่อบล็อกได้ 3-4 ชิ้น

เด็กวัย 1 ½ - 2 ขวบ

- ขึ้นบันไดได้แต่ต้องใช้มือหนึ่งจับราว เดินขึ้นลงบันไดตามลำพังได้เมื่ออายุ 2 ขวบแต่ยังสลับขาไม่ได้

- ชอบวิ่ง ปีนป่าย กระโดดอยู่กับที่

- เดินทีละก้าวบนกระดานไม้แผ่นเดียวได้

- ขี่จักรยาน 3 ล้อได้

- เริ่มถนัดใช้มือข้างใดข้างหนึ่งแล้ว

- ร้อยลูกปัดเม็ดใหญ่ๆ ได้

 

เด็กวัย 2 - 2 ½ ขวบ

- สนุกสนานกับการเคลื่อนไหว ทั้งการวิ่ง กระโดดโลดเต้น หลบหลีกสิ่งกีดขวางบนทางเดินได้ดี

- เดินถอยหลังได้ เดินเขย่งปลายเท้าได้ 2-3 ก้าว

- ปีนขึ้นบนราวในสนามเด็กเล่นได้แต่ปีนลงไม่ได้

-  หมุนลูกบิดประตูได้ จับถือสิ่งของได้มั่นคง หยิบของชิ้นเล็กๆ ได้แต่หลุดมือง่าย ชอบขว้างและรับของ

- ต่อบล็อกได้ 6 ชิ้น

 

เด็กวัย 2 ½ - 3 ขวบ

- ยืนบนขาข้างเดียวได้นาน 2 วินาที

- วิ่งได้ดีแต่ไม่สามารถเริ่มหรือหยุดได้โดยเร็ว

- กระโดดขึ้น 2 ขาพร้อมกันและกระโดดลงจากเก้าอี้ได้ ขึ้นลงบันไดได้เองโดยต้องรอให้ขาทั้ง 2 อยู่ชั้นเดียวกันก่อนจึงก้าวต่อ

- มือและนิ้วทำงานประสานกันได้ดี

- ต่อบล็อกได้สูง 8 ชั้น

     

 พัฒนาการทางจิตใจของเด็กวัย 1-3 ปี

วัย 1-1 ½ ปี ต้องการทำอะไรๆ ด้วยตัวเอง อยากควบคุมผู้อื่น ชอบปฏิเสธ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ไม่สามารถอดทนต่อภาวะความคับข้องใจได้ ชอบกอดและติดตุ๊กตาหรือผ้าห่ม

วัย 1 ½ - 2 ปี ลูกจะเกิดความรู้สึกคับข้องใจได้ง่าย มีปฏิกิริยาทางบวกหรือลบค่อนข้างรุนแรง ใช้คำพูดแสดงอารมณ์ เช่น ไม่เอา ออกไป หวงของหรือซ่อนของเวลามีเด็กคนอื่นมาเล่นด้วย ชอบส่องกระจก ชอบนั่งตักและกอดคอผู้ใหญ่ที่สนิทด้วย

วัย 2 – 2 ½ ปี กลัวและกระวนกระวายกับการต้องจากคุณแม่ แต่ก็เรียนรู้ว่าพ่อแม่จากไปในช่วงเวลาหนึ่งแล้วจะกลับมา กลัวตามสิ่งที่ผู้ใหญ่กลัว เช่น หนู แมลง ฯลฯ กลัวสิ่งแปลกใหม่ กลัวความมืด กลัวเสียงดังๆ ปฏิเสธตลอดเวลา รู้สึกดีต่อตนเองถ้ามีคนชมหรือแสดงอาการยอมรับค่ะ

วัย 2 ½ - 3 ปี คับข้องใจเวลาพูดอะไรแล้วผู้ใหญ่ฟังไม่เข้าใจ เมื่อต้องการอะไรจะยืนยันแข็งขัน ไม่ยอมยืดหยุ่นเลย จึงดูเหมือนลูกมีอารมณ์แปรปรวนบ่อยๆ

 พัฒนาการทางสังคมของเด็กวัย 1-3 ปี

วัย 1-1 ½ ปี อวดหรือให้ของเล่นกับผู้ใหญ่ ชอบรื้อตะกร้าเสื้อผ้า ดึง ผลัก หยิก จับเด็กอื่นๆ ในวัยเดียวกันเสมือนเขาเป็นของเล่น เรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น

 

วัย 1 ½ - 2 ปี ชอบเฝ้าดูการกระทำของคนอื่น ยังไม่ชอบแบ่งปัน ชอบแสดงท่าควบคุมและออกคำสั่งคนอื่น สนุกกับการไปเที่ยว ไปเดินเล่นนอกบ้าน อยากเป็นตัวของตัวเอง

 

วัย 2 – 2 ½ ปี เลียนแบบมารยาทในสังคมและการปฏิบัติต่อกันจากพ่อแม่ มีความเป็นตัวของตัวเองมาก ถือตัวเองเป็นศูนย์กลาง ยังไม่ยอมแบ่งของเล่น ติดและรักแม่มาก

 

วัย 2 ½ - 3 ปี ชอบช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ชอบออกคำสั่ง เรียกผู้หญิง ผู้ชายและแยกระหว่างคุณพ่อกับคุณแม่ได้ใช้ภาษา...เก่งขึ้น

 

วัย 1-1 ½ ปี รู้จักชื่อสมาชิกภายในบ้าน มีปฏิกิริยาต่อชื่อของตัวเอง ลูกจะฝึกพูดอยู่เสมอ พยายามใช้ถ้อยคำใหม่ๆ เชื่อมคำเข้าด้วยกันได้ 2 คำ เข้าใจคำถามง่ายๆ

 

วัย 1 ½ - 2 ปี ชอบถามว่า “อะไร” เริ่มพูดตอบมากขึ้น ใช้คำพูดแสดงอาการหรือสิ่งต่างๆ พยายามทำตามคำสั่ง เลียนแบบคำพูดของผู้ใหญ่

 

วัย 2 – 2 ½ ปี พูดคำศัพท์ได้มากกว่า 30 คำ เข้าใจประโยคยาวๆ ร้องเพลงบางท่อนได้ เลียนแบบสำเนียงพูดของพ่อแม่

 

วัย 2 ½ - 3 ปี พูดและเรียนรู้คำศัพท์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รู้คำใหม่ๆ ประมาณ 50 คำ / เดือน ใช้ประโยคที่มีคำ 4 คำได้ บอกชื่อจริงและนามสกุลได้

     การส่งเสริมพัฒนาการสำคัญให้เด็กวัย 1-3 ปี

เด็กวัย1-3 ปี ต้องการอิสระ ชอบรื้อค้น ช่างพูดช่างคุย แต่บางครั้งก็วีน โวยวาย หรือซนสุดๆ อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะทุกอย่างที่ลูกแสดงออกล้วนต้องการแรงเสริมที่ถูกต้องจากพ่อแม่ ถ้าเป็นเรื่องไม่อันตราย พ่อแม่ควรส่งเสริมให้เด็กทำสิ่งต่างๆ ที่อยากทำ ให้เด็กได้สำรวจสิ่งที่อยากรู้ได้อย่างเต็มที่ การรื้อค้น จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่า ของชิ้นไหนเป็นของใคร ควรเก็บไว้ที่ไหน และได้เรียนรู้ว่าสิ่งของมีความแตกต่างกัน ช่วยพัฒนาความจำของเด็กอีกด้วย

เด็กวัย 1-3 ปี กล้ามเนื้อมือและข้อมือจะพัฒนาได้มากแล้ว หยิบจับได้คล่อง และถนัดมือมากขึ้น กล้ามเนื้อมือทำงานประสานกับสายตาได้ดีขึ้น จนสามารถแกะกระดุมถอดเสื้อผ้าเองได้ จับช้อนตักข้าวกินเองได้ สามารถจับดินสอขีดเขียนได้ พ่อแม่ควรส่งเสริมโดยหาดินสอสีมาให้ลูกขีดเขียน ฝึกให้ลูกรู้จักแปรงฟันได้เอง และช่วยเหลือตัวเองในเรื่องต่างๆ อย่าลืมคำชมเมื่อลูกทำได้ด้วย

 

เด็กวัย 1- 3 ปี ซน มีพลังงานเหลือเฟือ มีความอยากรู้อยากเห็น บวกกับการที่สามารถเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น ชอบปีนป่าย กระโดด ฯลฯ โลกในบ้านนับวันจะแคบเกินไป พ่อแม่ควรพาเด็กไปเล่นในที่กว้างๆ เช่น สนามเด็กเล่น เพื่อให้ลูกได้ใช้พลังงานที่อยู่ในตัวได้อย่างเต็มที่

 

เด็กวัย 1-3 ปี ช่างเจรจา ช่างซักถาม จำคำและสามารถสื่อสารกับพ่อแม่ได้มากขึ้น จึงพูดได้ทั้งวันและยังชอบให้คนอื่นฟังด้วย พ่อแม่ควรสนใจในสิ่งที่เด็กพูด ไม่แสดงท่าทีเบื่อหน่าย พูดคุยและหาคำใหม่ๆ มาใช้เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จักและจดจำคำต่างๆ อาจใช้เพลงหรือคำคล้องจองก็ได้ ลูกจะได้สนุกกับการได้พูดตาม

 

เด็ก 1-3 ปี จอมปฏิเสธ คำว่า “ไม่” เป็นคำพูดติดปากของเด็กวัยนี้ เพราะต้องการแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า นี่คือธรรมชาติของเด็กวัยนี้ อาจทำไม่รู้ไม่ชี้กับคำว่าไม่ของเด็กบ้าง พยายามใช้คำสั่งกับเด็กให้น้อยที่สุด ใช้วิธีพูดโน้มน้าวใจให้คล้อยตาม หลีกเลี่ยงคำถามที่เด็กจะตอบว่าไม่

bottom of page